CATEGORIES
MENU

เทคนิคการปรับแต่งและใช้งานชุดกรองลมดักน้ำ

หลายท่านเคยสงสัยหรือไม่คะว่า เวลาที่เราใช้งานชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดแบบ F.R.L(หรือเรียกสั้นๆว่า ชุดกรองลมดักน้ำ)ไปนานๆ แล้วเราจะพบว่า ประสิทธิภาพในการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว จะเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นอาจจะเกิดจากสาเหตุหลักๆ ด้วยกันหลายประการดังนี้:

- อายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่เพิ่มมากขึ้น

- การใช้งานอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของอุปกรณ์ประเภทนั้นๆ เช่น ใช้งานผิดประเภท นำไปใช้ในงานในรูปแบบที่เกินกำหนดของคุณสมบัติของตัวอุปกรณ์ที่ได้ระบุมาจากผู้ผลิต ตลอดจนการใช้งานในรูปแบบอื่นๆที่ไม่ได้ระบุ หรือรองรับจากผู้ผลิต เป็นต้น

- อุปกรณ์ไม่ได้รับการดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ

ซึ่งปัญหาเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ จะทำให้การใช้งานชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดประเภทดังกล่าว ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจจะส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบลดน้อยลงไปได้

ดังนั้นก่อนที่ท่านจะนำชุดกรองลมดักน้ำ หรือ ชุดควบคุมคุณภาพลมอัดนี้ไปใช้งานในระบบของท่าน ท่านควรมีการตรวจสอบสิ่งจำเป็น หรือข้อพิจารณาที่เป็นประเด็นสำคัญ ก่อนการเลือกซื้อและปรับแต่งชุดกรองลมของท่านให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกครั้ง

ชุดกรองลมดักน้ำ หรือ ชุดควบคุมคุณภาพลมอัด

คำแนะนำด้านล่างนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำให้ผู้ใช้งานชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัด ได้ลองพิจารณาดูว่า หากท่านต้องการให้ชุดกรองลมของท่านทำงานได้อย่างมีประสิทธิอย่างสูงสุดแล้ว ท่านได้ทำตามคำแนะนำที่จำเป็นเหล่านี้แล้วหรือไม่:

1. ควรใช้ตัวกรองที่มีขนาดที่เหมาะสมกับงานหรือระบบ

การใช้ชุดกรองหรือตัวกรองที่มีขนาดเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญหลักเลยก็ว่าได้ สำหรับชุดกรองนั้นเราควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้:

- ขนาดของรูสำหรับเชื่อมสำหรับเชื่อมต่อกับท่อในระบบของท่าน โดยขนาดของอุปกรณ์ประเภทนี้จะแจ้งเป็นหน่วยของนิ้วหรือหุนเช่น 1/4" (2หุน),  2/4" (4หุน), 3/8" (6หุน) เป็นต้น

- ชนิดของเกลียวของชุดกรองลมว่าเป็นเกลียวประเภทใด ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าเรียวดังกล่าวนั้นจะมีให้เราเลือกใช้งานทางแบบเกลียวในและเกลียวนอก

- การรองรับอัตราการไหลของของไหลอย่างสูงสุด ส่วนใหญ่แล้วจะมีหน่วยเป็นลิตรต่อนาที ยิ่งถ้าชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดรุ่นใดมีการรองรับอัตราที่สูงเท่าไหร่ เราจะพบว่าชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดนั้นมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย อัตราดังกล่าวควรจะเป็นอัตราที่เหมาะสมที่ระบบของเราสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องมากเกินไปก็ได้ เพราะถ้าเราเลือกในอัตราที่มากเกินไป อาจจะทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

- ขนาดของชุดกรองลมมีผลต่อการทำงานและสมรรถภาพโดยรวมของระบบ ชุดกรองลมที่มีขนาดใหญ่นั้นจะมีการสูญเสียแรงดันลมอัดในขณะเริ่มต้นน้อยกว่าชุดที่มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าชุดที่เล็กกว่าอีกด้วย

- การเลือกใช้ชุดกรองลมที่มีขนาดเล็กเกินไปเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ดูเหมือนจะเป็นข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของผู้ใช้งานชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดเหมือนกัน ซึ่งนอกจากการทำงานที่ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว อาจจะส่งผลเสียให้กับระบบโดยรวมของเราได้ และแน่นอนว่าอายุการใช้งานย่อมลดลง(ชุดกรองตันเร็วขึ้น)ด้วย ตลอดจนเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตค่ะ

2. ใช้ระดับและคุณภาพการกรองที่ถูกต้องและเหมาะสม

เชื่อว่าหลายท่านคงจะมองข้ามระดับและคุณภาพในการกรองของชุดกรองลมดักน้ำไป ท่านเชื่อหรือไม่ว่าระดับการกรองของชุดกรองนั้นมีผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของระบบเช่นกัน การเลือกชุดปรับปรุงคุณภาพลมแบบดักน้ำที่มีระดับการกรองที่มีประสิทธิภาพดีหรือน้อยเกินไป อาจจะทำให้เราสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ระดับและคุณภาพของการกรองมีผลกับคุณภาพของลมอัด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเราเลือกชุดกรองลมที่มีคุณภาพในการกรองที่สูงแต่รูปแบบงานของเราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ลมอัดที่มีคุณภาพสูง หรือกรณีตรงกันข้าม เช่นระบบต้องการใช้ลมอัดที่มีคุณภาพสูงแต่เลือกชุดกรองลมที่มีระดับการกรองที่ต่ำ

ส่วนใหญ่แล้วระดับการกรองหรือประสิทธิภาพในการกรองจะอยู่ในหน่วย ไมครอน(micron:μm)ค่ะ ตัวอย่างการใช้ชุดกรองลมที่มีระดับการกรองที่เหมาะสมกับงานต่างๆก็คือ งานพวกระบบนิวเมติกส์แบบ servo จะใช้ระดับการกรองอยู่ที่ 5 μm(ไมครอน), งานประเภทพ่นสีรถยนต์ใช้ 0.1μm ส่วนเครื่องมือที่ทำงานเกี่ยวกับลมประเภทต่างๆ จะทำงานได้ดีที่ระดับการกรองประมาณ 40μm เป็นต้น

การเลือกระดับการกรองที่เหมาะสม ควรพิจารณาในระดับที่ต่ำสุดและสูงสุดของชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัด ว่าระบบเราสามารถรองรับได้ หรือมีความเหมาะสมหรือไม่

3. เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่/ซ่อมบำรุง ถ้าพบว่ามีประสิทธิภาพการทำงานลดลง

การบำรุงดูแลรักษาชุดกรองลมก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะเมื่อเราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไปนานๆ ภายในชุดกรองนั้นจะมีสารปนเปื้อนและสิ่งสกปรกต่างๆ เข้ามาสะสม เนื่องจากสิ่งสกปรกเหล่านี้จะเป็นสาเหตุหลักที่อาจจะทำให้ชุดกรองลมของเรานั้นอุดตัน ไม่สามารถกรองลมอัดได้ดีเท่าที่ควร(สามารถเช็คแรงดันลมได้ที่เกจวัดแรงดันลม หรือชุด Regulator เพิ่มเติมได้)

ปัญหาที่อาจจะเกิดจากชุดกรองลมอุดตันก็คือ คุณภาพลมอัดที่ได้จากการกรองไม่ดีเท่าที่ควร มีการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น อุปกรณ์อื่นที่อยู่ใกล้เคียงทำงานผิดพลาดได้ง่าย

ถ้าหากเราพบว่าการอุดตันดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย ท่านต้องตรวจสอบก่อนว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากอายุการใช้งานของอุปกรณ์ได้ครบกำหนดแล้วหรือไม่(หมดอายุการใช้งาน) ถ้าใช่ -- แนะนำว่าควรเปลี่ยนแผ่นกรองหรือชุดกรองใหม่จะดีกว่า เพราะว่า จะทำให้เช็คกรองลมกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ตลอดจนสามารถลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ถ้าไม่ใช่ -- เราควรมีการ maintenance(ปรับปรุง+ดูแลรักษา) ชุดกรองลมดักน้ำค่ะ

เพื่อประสิทธิภาพอย่างสูงสุดในการใช้งานชุดกรองลม ท่านควรมีรอบในการตรวจสอบการทำงานเบื้องต้น ตลอดจนรอบในการบำรุงดูแลรักษา อาจจะอยู่ในลักษณะรูปแบบของ การ maintenance ประจำเดือนหรือประจำปี แบบนี้เป็นต้น โดยในแต่ละรอบจะต้องมีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ และถูกต้องตามคู่มือที่ได้รับจากผู้ผลิต

หมายเหตุ: การเปลี่ยนแผ่นกรองหรือชุดกรองลมใหม่ โดยทั่วไปจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อมีแรงดันลดลง 7 psi หรือ 0.5 bar แต่ถ้าหากระบบใดที่ต้องการลมอัดที่มีคุณภาพสูง ควรเปลี่ยนเมื่อมีแรงดันลดลง 10 psi หรือ 0.7 bar ค่ะ(หรือขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละระบบ)

4. คุณภาพของวัสดุที่นำมาผลิตชุดกรองลม

โดยทั่วไปแล้วชุดกรองลมจะมีหลากหลายประเภทให้เราได้เลือกใช้งานกัน และแน่นอนว่าประสิทธิภาพของแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ถึงแม้ว่าระดับการกรองหรือไมครอนจะเท่ากันแล้วก็ตาม แต่ประสิทธิภาพโดยรวมของการกรองลมก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของวัสดุที่ผลิต

ชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดที่มีคุณภาพสูงนั้นจะสามารถลดแรงดันได้ดีกว่าชุดที่มีคุณภาพที่ต่ำกว่า มีระดับการกรองที่ดีกว่า และมีการอุดตันเช้ากว่าอีกด้วย อีกทั้งชุดกรองลมที่มีคุณภาพสูงยังสามารถทดแทนแรงดันในกรณีที่ความดันลดลงได้อย่างคงที่และสม่ำเสมอ ไม่รวดเร็วจนเกินไปเหมือนชุดที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งการชดเชยหรือทดแทนความดันเร็วเกินไปหรือไม่สม่ำเสมอ อาจจะก่อผลเสียให้กับอุปกรณ์อื่นๆหรือระบบโดยรวมของท่านได้

5. ใช้อุปกรณ์ประเภทชุดปรับแรงดันเข้ามาช่วยในเรื่องความสม่ำเสมอของแรงดัน

หน้าที่ของชุดปรับแรงดันลมอัดก็จะมีความหมายตรงตัวค่ะคือ ทำให้แรงดันที่จ่ายให้กับระบบมีความคงที่และสม่ำเสมอ เส้นถ้าหากว่าในระบบนิวเมติกส์ของเราไม่มีอุปกรณ์ประเภทปรับแรงดันหรือควบคุมแรงดันให้คงที่แล้ว ผลที่ตามมาก็คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ผลิตลมอัดเช่นปั๊มลมและชุดกรองลมอาจจะทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมได้

นั่นหมายถึงว่าอุปกรณ์เหล่านั้น จะมีการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายของระบบที่สูงขึ้น และสุดท้ายก็คืออายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่สั้นลง

ข้อดีของชุดปรับปรุงแรงดันคือ จะเป็นตัวควบคุมแรงดันให้มีความเหมาะสมกับแรงดันที่ใช้งานในระบบ สามารถที่จะลดแรงดันในส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากระบบได้ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์อื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ที่เป็นกระบอกลมหรือกระบอกสูบ หรืออุปกรณ์อื่นที่อยู่ในประเภทของวาล์วควบคุมเช่น โซลินอยด์วาล์ว เป็นต้น

ชุดปรับแรงดันลมอัดที่เหมาะสมแก่การใช้งานในระบบ ควรมีค่าต่ำสุดและสูงสุด ที่สามารถปรับแต่งค่าให้เหมาะสมกับแรงดันที่ใช้งานในระบบได้ จะต้องมีค่าไม่น้อยหรือไม่มากจนเกินไป

ทางที่ดีที่สุดคือ เราควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของชุดปรับแรงดันก่อนการเลือกซื้อจากผู้ให้บริการ หรืออาจจะสอบถามข้อมูลจากผู้ให้บริการเพิ่มเติม เกี่ยวกับคุณสมบัติของอุปกรณ์ดังกล่าวได้ เพื่อย้ำความมั่นใจก่อนที่จะนำไปใช้งานทุกครั้งค่ะ

เอาล่ะค่ะ นี้ก็เป็นเทคนิคการปรับแต่งชุดกรองลมดักน้ำเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพอย่างสูงสุดเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น โดยส่วนที่เหลือผู้เขียนจะขออนุญาตยกยอดไปเขียนต่อที่บทความ เทคนิคการใช้ปรับแต่ง ชุดกรองลมดักน้ำ เพื่อประสิทธิภาพอย่างสูงสุด Part2 ค่ะ