ปั๊มลม/เครื่องอัดลม (Aircompressor)
ในระบบนิวแมติก เราใช้ลมอัดเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานกล ซื่งตัวการที่ทำให้เกิดลมอัดได้แก่ เครื่องอัดลม/ปั๊มลม (Aircompressor)
โดยที่ตัวเครื่องอัดลม/ปั๊มลม จะมีหน้าที่ดูดอากาศเข้ามาทางท่อทางดูด แล้วอัดให้มีอากาศให้มีความดันสูงขึ้นกว่าเดิม
จากนั้นจึงส่งอากาศที่ถูกอัดตัวแล้ว ไปยังถังพักลมไปอีกทีหนึ่งก่อนที่จะ ถูกส่งไปใช้งานในการควบคุมระบบนิวแมติก
ขนาดของถังพักจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับ ขนาดของเครื่องอัดลมและปริมาณลมที่ใช้ในวงจรนิวแมติก
การติดตั้งเครื่องอัดลม
บริเวณที่ติดตั้งเครื่องอัดลม/ปั๊มลม ควรจะได้มีการพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมรอบเครื่องอัดลม อากาศที่จะเข้าเครื่องอัดลมจะต้องแห้ง เย็น ปราศจากความชื้น และไม่มีฝุ่นละอองเจือปน
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่ปนอยู่ในอากาศ ถ้าอากาศที่เข้าไปในเครื่องอัดลมสะอาดก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องอัดลมได้นานขึ้น
ชนิดของเครื่องอัดลม/ปั๊มลม
เครื่องอัดลม/ปั๊มลม ที่มีใช้อยู่ทั่วไปอยู่หลายประเภท แต่อาจจำแนกได้เป็น 6 ประเภทคือ
1. เครื่องอัดลมแบบลูกสูบ
ทำงานโดยการอัดอากาศภายในกระบอกสูบให้มีปริมาตรลดลงเพื่อให้มีความดันเพิ่มขึ้น เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบนี้มีอยู่2 ลักษณะ
คือ เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบลูกสูบชัก (reciprocating piston compressor) และ
เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบลูกสูบหมุน (rotary piston compressor)
เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบลูกสูบสามารถสร้างความดันได้ ตั้งแต่ 4 ถึง 300 บาร์ ขึ้นอยู่กับจำนวนขั้นของการอัด
และสามารถจ่ายลมได้ ตั้งแต่ 2 ถึง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ถ้าขั้นในการอัดมากก็จะสามารถสร้างความดันให้สูงขึ้นตามไปด้วย
2. เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบไดอะเฟรม
ในกรณีที่เราต้องการให้อากาศอัดไม่มีสิ่งเจือปน เช่นน้ำมันหล่อลื่น เพื่อไปใช้งานทางด้านเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ควรจะเลือกใช้เครื่องอัดลมชนิดนี้
เพราะน้ำมันหล่อลื่นไม่สามารถผ่านแผ่นไดอะเฟรมเข้าไปในห้องอัดได้
3. เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบเวนโรตารี
การทำงานของเครื่องอัดลมชนิดนี้จะมีเสียงไม่ดัง การหมุนทำงานได้เรียบ การผลิตลมเป็นไปอย่างคงที่ ไม่มีการขาดเป็นห้วง ๆ
ความสามารถในการผลิตลมสามารถทำได้ 4 ถึง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ในกรณีที่เครื่องอัดลมมีจำนวนขั้นการอัดเพียงขั้นเดียว จะได้ความดัน 7 บาร์
แต่ถ้าเป็น 2 ขั้น จะได้ความดันถึง 10 บาร์
4. เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบสกรู
โครงสร้างของเครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบสกรู เป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ใหม่ โดยคอมเพรสเซอร์ชนิดนี้จะมีเพลาสกรูสองเพลาที่หมุนขบกัน การขบกันของเพลาสกรูทั้งสองจะต้องหมุนขบกันได้พอดีตลอด
โดยที่เพลาตัวหนึ่งจะมีสกรูซึ่งมีสันนูนเรียกว่า เพลาตัวผู้ และอีกเพลาหนึ่งจะมีสกรูที่มีสันเพลาเว้าเรียกว่า เพลาตัวเมีย
เพลาสกรูทั้งสองจะประกอบอยู่ในตัวเรือนเดียวกัน โดยหมุนด้วยความเร็วรอบเกือบเท่ากัน ซึ่งเพลาตัวผู้จะหมุนเร็วกว่าเพลาตัวเมียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีทิศทางการหมุนเข้าหากัน
ทำให้ดูดลมจากด้านหนึ่ง และอัดส่งต่อไปอีกด้านหนึ่งได้ โดยสามารถทำให้ค่าความดันสูงถึง 10 บาร์ และมีอัตราการจ่ายลมได้ถึง 170 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที
5. เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบใบพัดหมุน
มีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับเกียร์ปั๊ม โดยใช้เกียร์ 2 ตัวขบกันแต่เกียร์ของเครื่องอัดลมแบบ นี้มีลักษณะพิเศษคือ มีเพียง 2 ฟัน หมุนขบกันด้วยความเร็วรอบที่เท่ากัน
โดยที่ปลายอีกข้างของฟันเฟือง จะต้องหมุนเกือบแตะสัมผัสกับผนังเครื่องอัดลม รีดและอัดลมขณะหมุนไปได้ อากาศจะถูกอัดจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งโดยที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงปริมาตร
นั่นคืออากาศไม่ถูกอัดขณะดูดจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่ง แต่อากาศจะถูกอัดตัวต้านกับความต้านทานที่เกิดขึ้นภายในถังเก็บแทน
มีข้อควรระวัง เนื่องจากระยะห่างระหว่างโรเตอร์กับผนังเครื่องมีช่องว่างเพียงเล็กน้ยอ ดังนั้นจึงควรระวังฝุ่นละอองที่ จะปนเข้าไปกับลมอัด ซึ่งจะทำให้โรเตอร์เกิดการสึกหรอได้รวดเร็ว
6. เครื่องอัดลม/ปั๊มลม แบบกังหัน เครื่องอัดลมแบบนี้ใช้หลักการของกังหัน ใบพัดจะดูดลมเข้าหาเครื่องและหมุนอัดลมให้ออกไปโดยผ่านช่องเวนความเร็วของลมที่ถูกดูดไหลผ่านใบกังหัน
จะทำหน้าที่เปลี่ยนเป็นพลังงานลมอัด การติดตั้งกระทำได้ทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งน้อย เครื่องอัดลมแบบกังหันสามารถผลิตอัตราการจ่ายลมได้ตั้งแต่ 170 ถึง 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที
ส่วนความสามารถในการทำความดันสามารถทำได้ประมาณ 4 ถึง 10 บาร์