การจ่ายลมอัดไปใช้ในระบบนิวแมติกมีความสำคัญ เช่น วิธีการเดินท่อจ่ายลมอัดและการเลือกขนาดท่อ จ่ายลมอัดให้มีความ สัมพันธ์กับปริมาณความต้องการลม เพื่อแก้ปัญหาความดันตกคร่อมที่จะเกิดขึ้นในท่อทาง และเป็นการประหยัดพลังงานอีกด้วย
การติดตั้งท่อส่งลมอัด
การวางท่อลมส่งลมอัดตามแนวนอนควรจะวางให้มีมุมเอียงลาดประมาณ 1 ถึง 2% ของความยาวท่อลมอัด และที่จุดปลายต่ำสุดหรือบริเวณ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ จะต้องติดวาล์วหรือกับดักน้ำสำหรับระบายน้ำที่เกิดการกลั่นตัวในท่อทางทิ้ง
การแยกท่อลมอัดออกไปใช้งานจากท่อเมนควรจะต่อขึ้นทางด้านบนโดยทำมุมประมาณ 30 องศากับท่อเมนและงอโค้งลงมา แต่ถ้าไม่สามารถหาวัสดุหรือท่อโค้ง 30 องศาได้ ควรใช้ท่อสั้น ๆ ต่อจากด้านบนของท่อเมนแล้วจึงใช้ข้อต่อข้องอต่อลงมาดังรูปที่ PNEUMATIC-SUPPLY-3 ซึ่งเป็นวิธีการต่อทีผิด เพราะถ้าคุณภาพของลมไม่ดีพอจะทำให้เกิดการกลั่นตัวของไอน้ำที่ปนไปกับลม น้ำจะลงไปทำความเสียหายแก่อุปกรณ์นิวแมติกได้
ในการเดินท่อในโรงงานหรือในอาคารควรจะมีการหักงอให้น้อยที่สุด เพราะถ้ามีการหักงอมากเท่าไร จะเกิดความดันตกคร่อมในท่อทางมาก ในทางปฏิบัติ ความดันตกคร่อมในท่อทางจ่ายลมอัดนี้ไม่ควรเกิน 5% ของความดันใช้งาน
ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ข้องอได้ก็ไม่ควรใช้ข้องอแบบมุมหักฉาก 90 องศา แต่ควรจะใช้ข้องอโค้ง 90 องศาแทน และในการเดินท่อเมื่อมีสิ่งกีดขวาง เช่นคาน หลีกเลี่ยงได้โดยการเดินท่อและบริเวณส่วนที่ต่ำที่สุดจะต้องติดตั้งกับดักน้ำระบายอัตโนมัติไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมาขังอยู่บริเวณดังกล่าว
การเดินท่อเมนของลมอัดในโรงงานอุตสาหกรรม
ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่คือความดันลมอัดและ ปริมาณลมอัดที่ใช้มักจะมีความดันและปริมาณลม ไม่เพียงพอสำหรับอุปกรณ์ของนิวแมติกตัวท้ายๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากความดันตกคร่อมในท่อเมนมากเกินไป ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าโดยปกติความดันตกคร่อมที่อนุญาตให้ไม่เกิน 5% ของความดันใช้งาน สาเหตุที่เกิดความดันตกคร่อมขึ้นในระบบท่อทางจ่ายลมอัดก็คือ
1. การเดินท่อเมนมีข้องอมากเกินไป ในกรณีที่ต้องการเดินท่อจ่ายลมอัดให้สวยงามโดยเดินท่อลมติดกับตัวอาคาร ปัญาที่จะพบอยู่บ่อยครั้งก็คือทำให้เกิดมีข้องอมากเกินไป
2. การเลือกขนาดของเครื่องอัดลมไม่สัมพันธ์กับอุปกรณ์นิวแมติกที่ใช้ในโรงงาน คือมีเครื่องอัดลมขนาดเล็กเกินไป
3. เลือกขนาดของท่อจ่ายลมอัดไม่ถูกต้อง
4. มีการเพิ่มอุปกรณ์นิวแมติกเข้ามาใช้ในโรงงานโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถของเครื่องอัดลมที่ใช้งานอยู่
การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรจะหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ได้กล่าวข้างต้นมาแล้ว และในการเดินท่อเมนจ่ายลมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีอยู่ดังนี้
การเดินท่อแบบแยกสาขา (branch line) การเดินท่อจ่ายลมอัดแบบนี้เหมาะสำหรับในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีจำนวนอุปกรณ์นิวแมติกไม่มากนัก การเดินท่อลักษณะนี้ถ้าเพิ่มอุปกรณ์นิวแมติกเข้ามาในระบบอีกโดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถของเครื่องอัดลม จะทำให้อุปกรณ์นิวแมติกตัวสุดท้ายในระบบมักจะทำงานไม่ได้