สวัสดีปีใหม่(ตรุษจีน)ค่ะทุกๆท่าน หวังว่าหลายๆคงที่มีเชื้อสายจีน หรือไทย-จีนคงใช้เวลาว่างอยู่กับความสุขส่วนตัวหรือกับครอบครัวนะค่ะ อีก 1 ปีที่ผ่านไปไว้เหมือนโปรโมชั่น AIS ยังไงก็ไม่รู้ เผลอแป๊บเดียว อายุก็มากขึ้นอีกปีแล้วสิเนี่ย --"
เอาล่ะค่ะนอกเรื่องไปซะไกล มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันดีอีกวันหนึ่งสำหรับแอดมิน เพราะที่บ้านได้ฉลองรับปีใหม่ตรุษจีนไปอย่างเรียบร้อยแล้ว และที่ขาดไม่ได้คือ แอบได้ซองแดงมาด้วยล่ะค่ะ เมื่อฤกษ์ดีเช่นนี้ แอดมินก็เลยหาอะไรๆมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านเล่นกันเพลินๆอยู่กับบ้านดีกว่า ซึ่งเรื่องที่จะนำมาเล่าให้กันฟังในวันนี้ก็จะอยู่ส่วนของ "โซลินอยด์วาล์ว" ค่ะโดยจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไรนั้น ไปติดตามกันต่อเลยค่ะ
เวลาผ่านไป ไฉนเจ้าถึงไม่เหมือนเดิม
แน่นอนค่ะ เมื่อวันเวลาผ่านไป อะไรๆก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย อายุ รอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า แขนขาไม่ค่อยมีแรง ไม่เหมือนตอนเด็กๆ อะไรก็ดูเต่งตึงไปซะหมด อย่าว่าแต่เรื่องร่างกายของมนุษย์เลยค่ะ แม้แต่กับโซลินอยด์วาล์วเองก็ไม่เหมือนเดิม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
โซลินอยด์วาล์วก็คือวาล์วควบคุมทิศทางไหลดีๆนี่เอง มีเปิดและปิด กำหนดช่องทางเข้าออกเพื่อที่จะจ่ายของไหลอย่างที่เราต้องการได้ เมื่อเราใช้เจ้าโซลินอยด์วาล์วนี้ไปนานๆ สังขารมันก็เริ่มที่จะโรยแรง ยกตัวอย่างเช่น ไม่ค่อยจะตัดหรือต่อ เปิดหรือปิดอย่างที่ควรจะเป็น ตัวถังเริ่มรั่วมีของไหลซึมออกให้เห็นเริ่มจากน้อยๆ ไปจนถึงต้องพาเข้าโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว
เมื่อเราพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับวาล์วสุดที่รักของเรา เราจะทำยังไงดี? หรือให้ดีเราควรมีวิธีระวังหรือป้องกันอย่างไรได้บ้าง? เพื่อไม่ใช่วาล์วตัวน้อยนี้มันเริ่มงอแง อันนี้เทคนิคมันก็ไม่ได้ยากอะไรมากมายค่ะ เอาเป็นว่าอ่านกันไปเรื่อยๆนะค่ะ แล้วท่านจะนึกภาพออกว่า "เฮ้ย! นึกแล้วเชียวว่าพลาดอะไรไป" อย่างแน่นอนค่ะ
มั่นใจว่าเลือกรุ่นที่เหมาะสมกับงาน
ถ้าท่านไม่อยากให้วาล์วมีอายุสั้นก่อนกำหนด หรือทำงานได้บ้างไม่ได้บ้าง ก่อนอื่นเลยต้องดูก่อนว่างานที่จะนำโซลินอยด์วาล์วไปใช้งานมันเป็นงานประเภทไหน เหมาะสมกับการทำงานของวาล์วตัวนั้นๆหรือไม่ เช่น ท่อของไหลมันใหญ่ไป แล้วเราเลือกวาล์วที่มีรู Orifice เล็กๆ ไม่เหมาะสม แบบนี้จะทำให้ท่านได้ของไหลที่เท่าเดิมค่ะ แต่ใช้เวลามากขึ้น และถ้าท่อเล็ก แต่วาล์วรูใหญ่มันก็จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นค่ะ โดยรายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการเลือกซื้อวาล์วให้เหมาะสมกับงานนั้นก็ไม่ยากค่ะ อ่านต่อได้ที่ การเลือกโซลินอยด์วาล์ว ให้เหมาะกับงาน
ต่อใช้งานกับแหล่งจ่ายไฟ ได้แบบถูกต้องตามคู่มือ
แหล่งจ่ายไฟที่เราจะนำไปจ่ายให้กับวาล์ว มันก็เหมือนกับข้าวที่เรากินทุกวันค่ะ กับข้าวที่มันเหมาะสมกับรูปร่างและวัย มันย่อมมีประโยชน์และดีกว่ากับตัวเราอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเราได้วาล์วหรือก่อนซื้อวาล์วมาใช้ เราต้องดูก่อนว่า ไฟฟ้าที่จะจ่ายให้กับวาล์วของเรานั้นเป็นกระแสไฟฟ้าแบบใด ในที่นี้ส่วนใหญ่คอยล์ของโซลินอยด์วาล์วจะใช้ได้กับไฟแบบ vdc และ vac เท่านั้น
ต่อมาเมื่อได้ประเภทของกระแสไฟฟ้าแล้ว เราก็จะต้องมาดูกันต่อว่า คอยล์ของวาล์วใช้ไฟที่แรงดันเท่าไหร่ เช่น 12VDC, 24VDC, 110VAC หรือ 22VAC แบบนี้เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแรงดันเหล่านี้จะเขียนติดไว้ที่ตัวคอยล์ที่อยู่บนโซลินอยด์วาล์วให้เราเห็นเลยค่ะ อันนี้อย่าลืมตรวจเช็คเด็ดขาด
สภาพพื้นที่ที่นำวาล์วไปติดตั้ง
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมนั้นมีผลต่ออายุการใช้งานโซลินอยด์วาล์วด้วยเช่นกัน ถ้าพื้นที่หรือตำแหน่งที่ติดตั้งมีความเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หรือไม่เสี่ยงต่อความชื้นที่อาจจะเป็นอันตรายต่อคอยล์ไฟฟ้าที่ติดอยู่กับตัววาล์ว มันก็จะทำให้วาล์วของเราทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่ค่อยงอแง รอบในการบำรุงรักษาก็ไม่ค่อยถี่อีกด้วย
มีการดูแลบำรุงรักษาสม่ำเสมอ
อันนี้ค่ะที่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะสาเหตุที่โซลินอยด์วาล์วชำรุดเสียหาย ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้งานไม่เคยบำรุงดูแลรักษาตามที่ได้แจ้งไว้ในคู่มือการใช้งานเลย ซึ่งจะรู้ตัวอีกทีเจ้าวาล์วตัวน้อยก็ลาโลกไปซะแล้ว พอจะนำมาซ่อมแซมก็คงจะดูไม่ทันการสักเท่าไหร่นัก
ดังนั้นสิ่งสำคัญของเรื่องที่จะนำเสนอในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าท่านอยากให้อะไรก็แล้วแต่อยู่กับท่านได้นานๆ ท่านต้องหมั่นเอาใจใส่เขาสักหน่อย ทำให้สม่ำเสมอ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไปค่ะ แล้วแอดมินเชื่อแน่ว่า ของเหล่านั้นจะอยู่กับเราไปนานแสนนานเลยทีเดียว
มาเริ่มตรวจสอบและทำความสะอาดโซลินอยด์วาล์วกันดีกว่า
เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านเห็นว่าวาล์วของเราเริ่มงอแง ทำงานผิดพลาดให้เห็นบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้นานนะค่ะ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วท่านอาจจะเสียอย่างอื่นเพิ่มเติมมากขึ้นโดยไม่จำเป็นก็ได้ และที่จะมาแนะนำวิธีตรวจสอบการทำงานของโซลินอยด์วาล์วตลอดจนการทำความสะอาดในวันนี้ เชื่อแน่ว่ามีประโยชน์แก่หลายๆท่านที่กำลังใช้งานวาล์วอยู่อย่างแน่นอน
หมายเหตุ: การตรวจสอบและทำความสะอาดจะอ้างอิงสำหรับโซลินอยด์วาล์วทองเหลือง ที่ใช้งานทั่วไปเท่านั้นค่ะ เพราะวาล์วประเภทนี้นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน และอีกอย่างหนึ่งคือมันสามารถที่จะทำเองได้โดยไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมากมาย สุดท้ายคือโครงสร้างของวาล์วทองเหลืองจะไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนโซลินอยด์วาล์วลม ที่ใช้ในงานนิวเมติกส์นั่นเองค่ะ
อาการที่น่าเป็นห่วงของวาล์ว ที่ต้องสังเกตุดู
ขั้นตอนตรวจสอบง่ายๆก็คือ เมื่อท่านเจออาการเหล่านี้ ขอให้ท่านตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนได้เลยว่า วาล์วทองเหลืองของเราเริ่มอาการไม่ดีแล้ว:
- ไม่ค่อยตัดหรือต่อเมื่อมีกระแสไฟจ่ายให้กับวาล์ว
- ตัดหรือต่อเป็นบางครั้ง
- แรงดันของไหลด้านใดด้านหนึ่งเพี้ยน
- มีความร้อนสะสมในตัววาล์วเร็วขึ้นกว่าปรกติ
- มีกลิ่นเหม็นไหม้รั่วออกมาจากตัววาล์วหรือคอยล์
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงอาการเริ่มแรกของการชำรุดของวาล์วโซลินอยด์เท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ท่านควรเสียสละเวลาถอดหรือหยุดใช้งานวาล์วไว้ก่อน แล้วถอดออกมาดูว่าสาเหตุของอาการเหล่านั้นมันมาจากอะไร ซึ่งถ้ากรณีที่ไม่มีกลิ่นไหม้ หมายถึงว่าเรายังสามารถชุบชีวิตให้วาล์วของได้เรา โดยเราจะต้องนำวาล์วออกมาล้างและทำความสะอาดใหม่ให้หมดค่ะ
เริ่มต้นถอดวาล์วออกมาล้างกันเลยดีกว่า
ก่อนที่เราจะไปเริ่มต้นถอดวาล์วทองเหลืองตัวน้อยของเรา เราจะต้องเตรียมอะไรๆก่อน ซึ่งนั่นก็คือเครื่องมือค่ะ เครื่องมือที่ต้องเตรียมไว้ก่อนถอดส่วนต่างของวาล์วจะมีด้วยกันดังนี้:
- ไขควงแฉกหรือแบน
- แปรงขนอ่อนที่ใช้ทาสีทั่วไป
- ประแจเลื่อนตัวเล็ก - กลาง เอาไว้ขันน็อตที่ยึดคอยล์ไฟฟ้าของวาล์ว
- ชุด 6 เหลี่ยม 1 ชุดเอาไว้ถอดน้อตที่ยึดติดตัววาล์วส่วนบนและล่างออกจากกัน
- ถุงมือผ้าหนาๆ เอาไว้ป้องกันคมของวาล์วที่อาจจะบาดมือเราได้
- ถ้ามีปั๊มลมหรือปั๊มเพรสเชอร์ที่เอาไว้ล้างรถยนต์ด้วยจะดีมาก เนื่องจากบางครั้งจะมีเศษสนิมหรือโคลนดินติดอยู่ในท่อของวาล์ว ซึ่งถ้าหากจะล้างด้วยมือเปล่าก็คงจะลำบากไม่น้อย ดังนั้นถ้ามีปั๊มฉีดน้ำแรงดันสูงจะช่วยได้มากเลยค่ะ
- น้ำสะอาด 1 - 2 ถังโดยประมาณขึ้นอยู่กับความสกปรกของวาล์ว
มาเริ่มกันเลย
1) ขั้นตอนแรกให้เราถอดวาล์วออกจากท่อในระบบหลักของเราเสียก่อน โดยก่อนถอดจะต้องปิดไฟที่จ่ายให้กับวาล์วทองเหลืองด้วยน่ะค่ะ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วมาหาเราค่ะ
2) เมื่อถอดวาล์วออกมาแล้ว ให้ใช้ประแจเล็กขันน็อตที่ยึดคอยล์ของวาล์วออกเสียก่อน เพราะขั้นตอนนี้เราจะถอดคอยล์ออกจากวาล์วทองเหลืองกันค่ะ คำแนะนำคือก่อนถอดคอยล์ไฟฟ้าออกจากวาล์ว ท่านจะต้องจำทิศทางและตำแหน่งของคอยล์ก่อนถอดออกด้วยว่า ก่อนถอดนั้นมีทิศทางและตำแหน่งเป็นอย่างไรค่ะ
3) จากนั้นหานำประแจหรือชุด 6 เหลี่ยมที่เตรียมไว้ มาไล่ขันน็อตออกทีละตัว(ถ้าน็อตเป็น 6 เหลี่ยม) โดยส่วนใหญ่แล้ว โซลินอยด์วาล์วที่เป็นทองเหลือง จะมีน็อตที่ติดอยู่บนตัวถังประมาณ 4 ตัวค่ะ โดยการขันน็อตนั้นให้เริ่มจากใช้แรงเบาๆก่อนไปจนถึงหนัก ถ้าเราพบว่าขันไม่ออก ให้เราใช้น้ำยาฉีดล้างสนิม(SONAX) หรือน้ำยาหล่อลื่นมาฉีดทิ้งไว้บริเวณน็อตทั้ง 4 ตัวนั้นก่อนสักประมาณ 5-10 นาทีจากนั้นค่อยลองดูใหม่อีกรอบ เทคนิคการขันน็อตก็คือขันแบบทะแยงมุมค่ะ หรือพูดง่ายๆคือขันแบบตรงกันข้ามนั่นเอง เช่นขันตัวแรกมุมล่างซ้ายเสร็จ ต่อไปจะต้องขันตัวบนมุมขวาสุดค่ะ
4) เมื่อขันน็อตออกครบหมดแล้ว ให้ท่านค่อยๆถอดส่วนบนและส่วนล่างแยกออกจากกัน โดยทั้ง 2 ส่วนจะมีซีลยางสีดำรองไว้ 1 แผ่น(แล้วแต่รุ่นของโซลินอยด์วาล์ว) ซึ่งแผ่นซีลนี้ส่วนใหญ่จะติดอยู่กับสปริงของส่วนบนของวาล์ว และสามารถถอดแผ่นซีลและสปริงออกมาจากส่วนบนแบบทั้งชุดได้
5) ถอดแผ่นซีล(Seal) และสปริงออกจากส่วนบนของวาล์วทองเหลือง ข้อควรระวังคือ ห้ามให้ซีลเป็นรอยฉีกขาดหรือหลุดออกจากชุดสปริงเด็ดขาด
6) ใช้น้ำสะอาดที่เตรียมไว้ค่อยๆเทลงบนส่วนบนและส่วนล่างของวาล์ว แต่ถ้าท่านมองดูแล้ว ทั้ง 2 ส่วนมีสนิม คราบโลหะ หรือดินโคลน ให้ท่านนำ 2 ส่วนนี้แช่ลงในถังที่เตรียมน้ำไว้ได้เลยค่ะสัก 15 - 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
7) ใช้แปรงขนอ่อนชุบน้ำสะอาดแล้วปัดทำความสะอาดแผ่นซีลและชุดสปริง
8) ใช้น้ำทำความสะอาดชิ้นส่วนอื่นๆที่เหลืออย่างระมัดระวัง
9) นำชิ้นส่วนต่างๆไปตากแดด(ยกเว้นแผ่นซีลยางที่ต้องนำไปตากไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก) และห่างจากมือเด็กที่บ้านด้วยน่ะค่ะ จากนั้นรอให้ชิ้นส่วนแห้งสนิทค่ะ
10) ประกอบชิ้นส่วนแต่ละตัวเข้าที่เดิม เป็นไปได้ในช่วงที่นำน็อตขันกลับเข้าที่ ถ้าท่านมีจาระบีให้นำจาระบีทาที่ตัวน็อตก่อนจะช่วยป้องกันสนิมและตะกรั่นโลหะ เพื่อที่ครั้งต่อไปเราจะสามารถถอดน็อตเหล่านั้นออกมาได้ง่ายขึ้นค่ะ
เสร็จเรียบร้อยโรงเรียนจีน
เห็นมั้ยล่ะค่ะว่า ในขั้นตอนทั้งหมดนี้ ใช้เวลาเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงเอง ท่านก็จะได้โซลินอยด์วาล์วทองเหลืองเหมือนใหม่มาไว้ใช้งานกันต่อแล้ว ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะค่ะ ทีนี้วาล์วตัวน้อยนิดก็จะอยู่กับเราได้อีกนานขึ้น และไม่มีอาการงอแงให้เราต้องปวดหัวกันแล้วล่ะค่ะ ถ้าหากว่างๆท่านใดอยากลองดูก็ไม่ว่ากันน่ะค่ะ ส่วนวันนี้แอดมินขอตัวพักผ่อนตามระเบียบเช่นเคยค่ะ.