CATEGORIES
MENU

DIY: การต่อโซลินอยด์วาล์วกับแหล่งจ่ายไฟ VDC

ในบทความนี้จะเป็นบทความแรก ที่ผู้เขียนอยากจะนำเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ DIY(Do It Yourself) ซึ่งความหมายของ DIY ก็คือ ทำเล่นให้เป็นจริงได้ด้วยตัวเราเองค่ะ

ประเด็นหลักของบทความนี้ก็จะเป็นในเรื่องของ การต่อโซลินอยด์วาล์ว กับแหล่งจ่ายไฟ VDC หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไฟกระแสตรง ด้วยวิธีง่ายๆกันค่ะ เหตุผลที่ผู้เขียนได้นำข้อมูลเกี่ยวกับ การต่อโซลินอยด์วาล์ว ก็เพราะว่า บางครั้งมือใหม่ที่ต้องการนำวาล์วแบบโซลินอยด์ไปใช้กับงานของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต่อใช้งานยังไงดี(ถึงจะสามารถใช้งานได้และปลอดภัย) แต่ถ้าท่านมาอ่านในบทความนี้ท่านก็จะสามารถต่อวาล์วประเภทดังกล่าวเข้ากับแหล่งจ่ายไฟ VDC ได้เลยในทันทีไม่ว่าจะเป็น แหล่งจ่ายไฟแบบ 6 VDC, 12VDC หรือ 24VDC ค่ะ

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งจ่ายไฟ VDC กันก่อน

บางท่านอาจจะยังสงสัยว่าแรงดันไฟ VDC นั้นมันคืออะไร และมันได้มายังไง สรุปสั้นๆก็คือ ไฟแบบ VDC นั้นจะเป็นกระแสไฟอีกประเภทหนึ่งที่ผ่านการแปลงมาจาก VAC(กระแสไฟฟ้าในบ้านเรือนทั่วไป)แล้วนั่นเอง(จากชุดแปลงไฟ AC เป็น DC) หรือเราสามารถหาแหล่งไฟ VDC นี้ได้จาก หม้อแบตเตอรี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ตลอดจนถ่านประเภทต่างๆอีกด้วย เช่น ถ่านนาฬิกา ถ่านไฟฉาย ได้ด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ:

  1. ในกรณีที่ท่านต้องการแค่ทดสอบวาล์ว ท่านสามารถใช้แหล่งจ่ายไฟแบบใดก็ได้ที่มีแรงดัน และกระแสไฟที่เหมาะสมกับคอยล์ของวาล์ว
  2. ในกรณีที่ใช้งานจริง ผู้เขียนแนะนำให้ท่านเลือกแหล่งจ่ายไฟที่มีแรงดัน และกระแสไฟแบบคงที่ ติดตั้งใช้งานได้แบบถาวร(เช่น ชุดแปลงไฟ/วงจรแปลงไฟ ที่อยู่ในระบบควบคุม)

เลือกโซลินอยด์วาล์วให้เหมาะสมกับแหล่งจ่ายไฟ

ประเด็นหลักก็คือ ก่อนที่ท่านจะนำ โซลินอยด์วาล์ว วาล์วควบคุมทิศทาง มาใช้งานนั้น ท่านควรตรวจสอบก่อนว่า แหล่งจ่ายไฟของระบบหรือวงจรควบคุมของท่าน "เป็นแหล่งจ่ายไฟประเภทใด" ในที่นี้ผู้เขียนจะหมายถึง แหล่งจ่ายไฟแบบ VDC ค่ะ ซึ่งเป็นไปได้ ให้ท่านหา/ออกแบบแหล่งจ่ายไฟแบบเป็นชุดแปลงไฟหรือเป็นวงจรควบคุมน่าจะสะดวกกว่า เช่น ชุดแปลงไฟ 12 หรือ 24 โวลท์(DC) เป็นต้น

จากนั้นเมื่อท่านได้แหล่งจ่ายไฟที่เหมาะสมแก่การใช้งานแล้ว ทีนี่ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนการเลือกโซลินอยด์วาล์วมาต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟหรือวงจรควบคุมของเราค่ะ

อุปกรณ์เซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ตั้งค่าการทำงานแบบอัตโนมัติ

ก่อนที่ท่านจะทำการต่อโซลินอยด์วาล์วเข้ากับวงจรควบคุม/แหล่งจ่ายไฟในระบบ ในขั้นตอนการออกแบบระบบหรือวงจรควบคุมหลัก ให้ท่านพิจารณาด้วยว่าท่านต้องการให้วาล์วทำงานแบบอัตโนมัติหรือแบบเมนวล(เปิด-ปิดเองด้วยมือ) ถ้าท่านต้องการให้วาล์วทำงานแบบอัตโนมัติท่านก็สามารถที่จะใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ระดับน้ำ เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิ ตลอดจนอุปกรณ์ที่สามารถตั้งเวลาให้วาล์วทำงานได้(Analog/Digital Timer)

อุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมทั้งหมดสำหรับ DIY นี้

  1. แหล่งจ่ายไฟ 12 หรือ 24 โวลท์ DC(ชุดแปลงไฟ AC เป็น DC) โดยต้องให้กระแสไฟที่มากกว่ากระแสไฟที่วาล์วต้องการใช้งาน แนะนำเป็นชุดแปลงไฟขนาดเล็ก-ปานกลาง ขึ้นอยู่กับการใช้กระแสไฟของโหลด/จำนวนของวาล์ว
  2. โซลินอยด์วาล์วแบบ 2 ทาง ที่มีคอยล์(Coil) แบบ 12 โวลท์ หรือ 24 VDC ก็ได้
  3. อุปกรณ์เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ หรือตัวตั้งเวลา/Timer (ออปชั่นเสริม)

ตัวอย่างการต่อโซลินอยด์วาล์ว

การต่อโซลินอยด์วาล์ว

หมายเหตุ:

  • โซนสีแดง  คือ โซนอันตราย หรือเป็นโซนที่ต้องต่อเข้ากับกระแสไฟฟ้าแบบ VAC(220V) ดังนั้นผู้ต่อจะต้องระมัดระวังในโซนดังกล่าว
  • โซนสีเขียว คือ โซนปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายในเรื่องของกระแสไฟต่อผู้ต่อ

ขั้นตอนการต่อ:

1. ทำการต่อสายไฟจาก VDC-Out จากชุดแปลงไฟเข้ากับสายไฟของโซลินอยด์วาล์ว โดยในขั้นตอนนี้ชุดแปลงไฟจะต้อง ไม่ต่อเข้ากับนาฬิกา/Timer ก่อน (ในโซนสีเขียว)

2. เมื่อทำการต่อไฟ 12VDC/24VDC เข้ากับวาล์วแล้ว ให้ท่านตรวจเช็คจุดเชื่อมต่อของสายไฟในแต่ละจุดว่าปลอดภัยแล้วหรือยัง

3. ทำการต่อ 220VAC-OUT ของตัวตั้งเวลา/Timer เข้ากับ 220VAC-IN ของชุดแปลงไฟ(ในโซนสีแดง) โดยในขั้นตอนนี้ที่ตัวตั้งเวลาจะต้องปิดการใช้งานไว้ก่อน(OFF)

4. ทำการต่อไฟ 220VAC เข้า Timer แนะนำว่าให้ผ่านเบรคเกอร์ตัดไฟเพื่อความปลอดภัยของผู้ต่อและระบบควบคุมแหล่งไฟ(โดยเบรคเกอร์จะต้องอยู่ในสถานะปิด-OFF ชั่วคราว)

5. ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อของสายไฟและขั้วต่อของ Timer และเบรคเกอร์ว่าขันแน่นแล้วหรือยัง

6. ทำการเปิดเบรคเกอร์ไปที่ตำแหน่งเปิด-ON

7. ทำการเปิดตัวตั้งเวลา/Timer ไปที่ตำแหน่งเปิด-ON(เมื่อเปิดนาฬิกาแล้ว จะสังเกตุว่าได้ยินเสียงนาฬิกาทำงาน:กรณีเป็นแบบอะนาล็อค)

8. ทำการตั้งเวลาที่ตัว Timer เพื่อทดสอบการทำงาน โดยอ้างอิงจาก Timer ในรูปภาพด้านบนคือ หมุดสีขาวสำหรับเปิด หมุดสีแดงสำหรับปิด

9. กรณีช่วงเวลาอยู่ในช่วงหมุดสีขาว จะต้อง มีกระแสไฟ 220VAC จ่ายออกจากตัว Timer เข้าสู่ชุดแปลงไฟ

10. กรณีช่วงเวลาอยู่ในช่วงหมุดสีแดง จะต้อง ไม่มีกระแสไฟ 220VAC จ่ายออกจากตัว Timer เข้าสู่ชุดแปลงไฟ

11. เมื่อกระแสไฟ 220VAC ถูกจ่ายเข้าสู่ชุดแปลงไฟแล้ว จะต้องมีไฟ 12VDC/24VDC จ่ายให้กับโซลินอยด์วาล์ว เป็นขั้นตอนสุดท้ายค่ะ

เอาล่ะค่ะ นี่ก็เป็นเพียง การต่อโซลินอยด์วาล์วเข้ากับไฟแบบ VDC ด้วยวิธีง่ายๆ แต่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ ซึ่งจริงๆแล้ว การออกแบบวงจรควบคุมการทำงานของวาล์วนั้นมีอยู่หลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการควบคุมและใช้งานในลักษณะใดค่ะ ในหัวข้อต่อไปแอดมินจะนำ DIY สำหรับ การต่อโซลินอยด์วาล์ว กับวงจรควบคุมกับไฟ 12VDC ให้ทุกท่านได้อ่านกันเพิ่มเติมนะค่ะ สำหรับ DIY นี้ขอตัวลาไปก่อนค่ะ.