CATEGORIES
MENU

อาการเสียของวาล์วควบคุมของไหลไฟฟ้าและการตรวจเช็คแบบง่ายๆ

ท่านเคยสังเกตุหรือไม่ว่า อุปกรณ์ประเภท วาล์วควบคุมทิศทางของไหล(แบบใช้คอยล์ไฟฟ้า) เวลาเราใช้ไปนานๆ มักจะมีอาการที่ส่อให้เห็นถึงอายุและประสิทธิภาพที่ถดถอย โดยวาล์วบางรุ่นหรือบางยี่ห้ออาจจะพบได้เร็ว และบางรุ่นอาจจะพบช้าหน่อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของวัสดุที่นำมาผลิต รอบหรือความถี่ในการใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ ตลอดจนการบำรุงดูแลรักษาของผู้ที่ใช้งานวาล์วอีกด้วย

เมื่อเกิดปัญหาอย่างที่ผู้ใช้งานไม่อยากให้เกิดก็คือ อยู่ๆเจ้า วาล์วควบคุมทิศทาง อันเป็นสุดที่รักของเรา มันก็หยุดทำงานไปซะเฉยๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่บอกลาสักคำ แล้วไม่รู้จะทำอย่างไรดี จะซ่อมดีหรือเปล่า หรือว่าจะซื้อตัวใหม่มาใช้งานแทนดี บางท่านอาจจะไม่ทราบถึง ปัญหาหรือสาเหตุของการชำรุดของวาล์ว แล้วซื้อตัวใหม่มาใช้แทน ไม่นานปัญหาเดิมก็ย้อนกลับมาทำให้ปวดหัวอีกครั้ง แล้วเราเคยสังสัยมั้ย ว่ามันเป็นเพราะอะไร?

อาการเสียของวาล์วไฟฟ้า มีอะไรบ้าง

ในบทความนี้ แอดมินจะนำข้อมูลและสาระดีๆ มาให้ผู้อ่านได้ลองอ่านกันดูค่ะว่า เวลาที่ "วาล์วควบคุมของไหล" ของเรามันแจ้งลางร้าย บอกเหตุว่า "เออ! ควรจะดูแลฉันได้แล้วนะ" เราควรจะทำอย่างไรก่อนเป็นอันดับแรก อันไหนบ้างที่เราควรที่จะพิจารณา และให้ความสำคัญ ซึ่งแอดมินคิดว่าบางครั้ง วาล์วไฟฟ้าของเรา อาจจะยังใช้งานได้อยู่ก็ได้ เพียงแต่ว่าเราจะต้องหมั่นเอาใจใส่กับมันเพิ่มขึ้นสักนิดแค่นั้นเองค่ะ

อาการเสียที่พบได้ทั่วไปของวาล์วควบคุมทิศทาง

เวลาที่วาล์วของเรามันเสีย บางท่านคงอยากจะรู้ว่าหลักๆ แล้วมีอาการแบบไหนบ้าง และบางท่านอาจจะอยากตรวจสอบ/เช็คด้วยตัวเองด้วย ใช่ค่ะ! มันไม่ยากอะไรเลย ง่ายๆเพียงไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น ลองดูตามรายการด้านล่างนี้น่ะค่ะ ไม่แน่ค่ะว่า "บางท่านอาจจะเจอคำตอบของปัญหาที่เจออยู่ก็เป็นได้"

1. อาการวาล์วไม่เปิด ทั้งๆที่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้คอยล์

อาการ วาล์วไม่เปิด มักทำให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้งานวาล์วเป็นครั้งแรกๆปวดหัวพอสมควรค่ะ เพราะอะไร? ก็เพราะว่าหลายๆท่านอาจจะสงสัยว่า อ้าว! เช็คไฟที่จ่ายให้กับคอยล์แล้วมันก็ปรกตินะ แต่ทำไมวาล์วถึงไม่เปิดให้ล่ะ ท่านทราบหรือไม่ว่า กระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับคอยล์ของวาล์ว "ควรจะต้องเป็นกระแสไฟฟ้าที่มีแรงดันคงที่ สม่ำเสมอ ไม่ตกหรือกระชาก" หากช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง กระแสไฟฟ้าเกิดผิดพลาด หรืออาจจะผิดพลาดบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ คอยล์ไฟฟ้าของวาล์ว ชำรุดเสียหาย หรือวาล์วเกิดค้างปิดตายอย่างถาวรได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนอื่นท่านต้องแน่ใจก่อนว่า "กระแสไฟฟ้าที่จ่ายนั้น แรงดันคงที่ ไม่มีปัญหา"

ต่อมาให้ท่านตรวจสอบ "แผ่นไดอะแฟรม" ที่อยู่ในตัววาล์วว่าพบสิ่งผิดปรกติหรือไม่ (ส่วนใหญ่แล้วไดอะแฟรมจะพบมากใน วาล์วควบคุมทิศทางตัวถังทองเหลือง) ซึ่งสิ่งผิดปรกติที่ว่านั้นจะประกอบไปด้วย เศษหิน, ขยะ, ใบไม้, เม็ดทรายหรือดิน, โคลนหรือตะกรันต่างๆ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะติดหรือเป็นสาเหตุทำให้วาล์วไม่เปิด หรือเปิด-ปิดไม่สนิทได้เช่นกันค่ะ ถ้าพบเห็นสิ่งแปลกปลอมติดอยู่แล้วล่ะก็ ให้รีบถอดวาล์วของเราออกมาทำความสะอาดได้เลยทันที อย่าปล่อยไว้นานค่ะ เพราะมันอาจจะทำให้วาล์วเสียหายหนักขึ้นมากกว่าเดิม หากท่านใดต้องการทราบ วิธีทำความสะอาดวาล์ว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ วิธีล้างและทำความสะอาดวาล์วไฟฟ้าด้วยขั้นตอนง่ายๆ

ตัวอย่างแผ่นไดอะแฟรม และชุดสปริงของวาล์วไฟฟ้า

* รูปตัวอย่างแผ่นไดอะแฟรมและสปริง

นอกจาก แผ่นไดอะแฟรมของวาล์ว เรายังต้องตรวจสอบ "สปริงที่ติดอยู่กับไดอะแฟรม" ด้วยค่ะว่า "ยังมีสภาพที่ปรกติอยู่หรือไม่" โดยสภาพที่ปกตินั้นก็คือ สปริงจะต้องยืดและหดได้ปรกติ ไม่ค้าง ไม่หด หรือเป็นสนิมค่ะ (รวมทั้งระยะยืดและหดของสปริง จะต้องไม่เพี้ยนด้วยน่ะค่ะ) สรุปแล้ว สิ่งที่ต้องพิจาณาสำหรับอาการนี้ก็คือ:

  1. ไดอะแฟรมของวาล์ว (The valve diaphragm)
  2. สปริงที่ติดอยู่กับไดอะแฟรม (Diaphragm spring)
  3. กระแส/แรงดันไฟฟ้าที่จ่ายให้กับคอยล์ของวาล์ว (Coil power) ยิ่งถ้าเป็นวาล์วที่ใช้คอยล์ไฟฟ้าอย่าง วาล์วโซลินอยด์ที่ใช้กับลมอัดเป็นหลัก แล้วล่ะก็ ยิ่งต้องพิจารณาเป็นอย่างมากค่ะ
  4. ส่วนที่ใช้สำหรับควบคุมแรงดันของไหล (flow control adjustment)
  5. ท่อทางเข้าก่อนถึงตัววาล์ว (Valve inlet port)
  6. ท่อทางด้านออกจากตัววาล์ว (Solenoid outlet port)
  7. รูสำหรับระบายอากาศของวาล์ว (The valve bleed port) (*ถ้ามี)

2. วาล์วปิดสนิท ไม่เปิดจ่ายของไหลอย่างที่ควรจะเป็น

อาการนี้จะตรงกันข้ามกับข้อ 1. แต่สิ่งที่เราจะต้องเช็คนั้นมีน้อยกว่าเล็กน้อยค่ะ ซึ่งกรณีที่วาล์วปิดสนิทนั้น(บางท่านอาจจะเรียกว่าปิดตายค้าง) หลักๆจะมาจากสาเหตุหลักคือ "คอยล์วาล์วไหม้" โดยวิธีง่ายๆที่จะตรวจสอบว่าคอยล์ไหม้จริงหรือไม่ ให้ท่านนำคอยล์ตัวอื่นที่ยังใช้งานได้อยู่(ถ้ามี) มาลองเปลี่ยนแทน ซึ่งก่อนจะเปลี่ยนนั้น ท่านควรให้จมูกดมกลิ่นคอยล์ก่อนว่ามีกลิ่นเหม็นไหม้หรือไม่ ถ้าใช่แล้วล่ะก็ แสดงว่าคอยล์ดังกล่าวชำรุดเรียบร้อยแล้วค่ะ ซึ่งในกรณีที่คอยล์วาล์วไหม้นั้น ทางที่ดีท่านควรตรวจสอบแรงดันหรือกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับวาล์วก่อนว่าปรกติหรือไม่ โดยการเช็คก็คือ "แรงดันจะต้องไม่ตก หรือกระชาก" บ่อยๆในช่วงที่วาล์วของเราทำงานอยู่ค่ะ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว คอยล์จะมีอายุการใช้งานที่สั้นลง มีความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปัญหาคอยล์ไหม้ตามมานั่นเองค่ะ

ตัวอย่างคอยล์ไฟฟ้าไหม้ สาเหตุเกิดจากความร้อน หรือกระแสไฟฟ้ากระชาก

* รูปตัวอย่างคอยล์ไฟฟ้าไหม้

3. วาล์วควบคุมทิศทางมีเสียงแปลก ขณะเปิดหรือปิด

ท่านเคยสังเกตุหรือไม่ว่า "การทำงานของวาล์วควบคุมทิศทางในสภาวะปรกติ" มันจะมีเสียงเป็นอย่างไรบ้าง? เสียงดัง? หรือเบา? วิธีเช็คง่ายๆคือ ตอนที่ท่านติดตั้งวาล์วและเริ่มต้นใช้งานในครั้งแรก ท่านจะต้องจำเสียงนั้นไว้ให้แม่น เพราะว่าวันไหนก็แล้วแต่ที่ท่านเดินผ่านมาแล้วได้ยินเสียงของวาล์วมันทำงานแบบผิดสังเกตุ ให้ท่านรีบปิดระบบ ปิดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับวาล์วทันที แล้วมาเช็ควาล์วอีกทีเพื่อความมั่นใจว่า เสียงดังกล่าวมาจากตัววาล์วขณะที่ทำงาน(เปิด-ปิด) จริงหรือไม่

โดยเสียงที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นเสียงแบบ "หึ่ง" ซึ่งเสียงหึ่งนี้เป็นเสียงที่บ่งบอกว่า "ความต่างของแรงดันขาเข้าและขาออกของวาล์วไม่เหมาะสมหรือผิดพลาด" ไม่ใช่เสียงที่บอกเราว่า "วาล์วชำรุดเสียหาย" เสมอไปค่ะ กรณีนี้ให้ท่านเช็คแรงดันขาเข้าและออกระหว่างวาล์วว่ามีแรงดันปรกติหรือไม่ บางระบบจะมีการติดตั้ง T-piece เพื่อช่วยลดเสียงเหล่านี้ แต่ถ้าท่านไม่สะดวกหรือจะลองเพิ่มขนาดของท่อในระบบก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งการเพิ่มขนาดท่อจะช่วยลดเสียงหึ่งได้เช่นกัน(เสียงทางขาเข้าก่อนถึงตัววาล์ว)

4. คอยล์ไฟฟ้าวาล์วไหม้(อาการหนักมาก)

สาเหตุหลักของคอยล์ไฟฟ้าไหม้ก็คือ "กระแสไฟฟ้าของระบบลัดวงจร" หรืออีกกรณีหนึ่งคือ "มีความร้อนสะสมที่ตัวคอยล์มากจนเกินไป" ในกรณีนี้คือ ให้ท่านเปลี่ยนคอยล์ใหม่อย่างเดียวเท่านั้นค่ะ แต่ก่อนเปลี่ยนคอยล์ ให้ท่านตรวจสอบ 2 ประเด็นหลักที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้าว่า มีจุดไหนที่ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือทำให้คอยล์ของวาล์วมีความร้อนสะสมเกินกว่าที่จะเป็นได้บ้าง เพราะถ้าหากท่านไม่ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ แน่นอนค่ะว่า คอยล์ตัวใหม่ที่เปลี่ยนไปแล้วนั้น จะกลับมาไหม้อีกอย่างแน่นอน สาเหตุก็เพราะว่า การเปลี่ยนคอยล์เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้นค่ะ ซึ่งโดยปรกติแล้วคอยล์ของวาล์ว จะต้องมีอายุการใช้งานครบตามที่ได้แจ้งไว้ในคู่มือของวาล์วแต่ละตัว ถ้าคอยล์ไหม้เร็วเกินไป สาเหตุของปัญหาจริงๆ อาจจะอยู่ในส่วนอื่นก็เป็นได้ค่ะ

คอยล์ของวาล์วควบคุมของไหลโดยทั่วไป ทั้งที่เป็น 24vdc และ 12vdc

* รูปตัวอย่างคอยล์ของวาล์ว

จุดที่น่าสนใจหลัก ที่อาจจะเป็นสาเหตุ ทำให้คอยล์ไหม้ ก่อนถึงเวลาอันควร:

  1. แรงดันที่จ่ายให้คอยล์สูงเกินไป ไม่นิ่งหรือสม่ำเสมอ
  2. มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษใบไม้ หิน เม็ดทราย หรือความชื้น ติดอยู่ในตัวคอยล์ของวาล์ว
  3. การติดตั้งสายไฟที่จ่ายให้วาล์วไม่ถูกต้องตามคู่มือของวาล์วรุ่นนั้นๆ อ่านเทคนิคการติดตั้งวาล์วไฟฟ้าเพิ่มเติมที่นี่

5. วาล์วไม่ปิด เมื่องดจ่ายกระแสไฟให้กับคอยล์

ในกรณีที่เราไม่จ่ายไฟให้กับ "คอยล์ของวาล์ว" โดยปรกติวาล์วจะต้องปิดสนิท(กรณีเป็นวาล์วแบบ NC) ซึ่งถ้าเกิดปัญหาวาล์วไม่ปิด ให้ท่านตรวจสอบรู orifice ของวาล์วก่อนเป็นอันดับแรกว่า "รั่วหรือไม่" ต่อมาก็คือ เช็คสปริงจะต้องไม่ขาด ยืด หรือหดจนเสียรูปทรงค่ะ สุดท้ายอย่าลืมเช็คแผ่นไดอะแฟรมด้วยค่ะเพื่อความมั่นใจ

สุดท้ายแล้ว หากดูแลดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ปัญหาการใช้งาน วาล์วควบคุมของไหลแบบไฟฟ้า ไม่ช้าก็เร็วค่ะ ที่ทุกๆท่านจะต้องพบเจออย่างแน่นอน ท่านใดดูแลบำรุงรักษาดีและสม่ำเสมอ วาล์วก็อยู่กับเราได้นาน ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของวาล์วก็รีดออกมาได้เต็มที่ ปัญหาที่อาจจะเจอตามรายการด้านบนอาจจะมาช้าสักหน่อย แต่ถ้าวันไหนที่ท่านรับรู้ถึงสิ่งผิดปรกติแล้วรีบลงมือแก้ไข ก็อาจจะทำให้เราสามารถยืดอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นไปได้ และนี่ก็เป็นเพียงบทความสำหรับแนะนำเกี่ยวกับอาการเสียและวิธีเช็ควาล์วไฟฟ้าในขั้นพื้นฐานเท่านั้น ในหัวข้อถัดไปแอดมินจะมานำเสนอเกี่ยวกับ "การบำรุงรักษาและการแก้ไขปัญหาใน part 2" เพื่อต่อยอดบทความนี้ให้ได้อ่านกันเพิ่มเติมอีกนะค่ะ สำหรับวันนี้ขอตัวตามระเบียบก็แล้วกันค่ะ บาย...