ถ้าจะกล่าวกันในเรื่องของระบบแก๊สรถยนต์ เชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้จักระบบนี้กันดีอยู่แล้ว ในปัจจุบันระบบแก๊สรถยนต์ถือได้ว่าเป็นอีกระบบหนึ่งที่เจ้าของรถยนต์ในบ้านเราให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบดังกล่าวนั้น สามารถที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวให้กับเจ้าของรถได้เป็นอย่างดี และอีกอย่างก็คือเป็นพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เมื่อเทียบกับที่เราจะต้องใช้เชื้อเพลิงแบบน้ำมัน
ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดในเรื่องของ โซลินอยด์วาล์วสำหรับแก๊สรถยนต์ ผู้เขียนอยากจะอธิบายเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของระบบแก๊สรถยนต์สักเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ที่มีรถยนต์แต่ยังไม่ได้ติดระบบแก๊สให้กับรถของตนเอง เอาไว้เป็นข้อพิจารณาสำหรับตัดสินใจที่จะติดตั้งระบบดังกล่าวลงในรถยนต์ของตนเองค่ะ
ข้อดีของระบบแก๊สรถยนต์:
1) ค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานนั้นจะถูกกว่าเชื้อเพลิงแบบน้ำมันมาก
2) รถยนต์ของเรามีความยืดหยุ่นในเรื่องของช่องทางการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น เช่นรถยนต์หรือรถเก๋งทั่วไป สามารถที่จะติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ เพื่อใช้งานควบคู่ไปกับแหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมันได้ในเวลาเดียวกัน
3) มีทางเลือกให้ติดตั้งระหว่างระบบแก๊สรถยนต์(ระบบหัวฉีด) ที่เป็น LPG และ NGV ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีผู้ที่นิยมใช้ระบบแก๊สที่เป็น LPG มากกว่า NGV เนื่องจากว่าแบบ LPG นั้น มีข้อดีและความยืดหยุ่นๆกว่า NGV อยู่หลายเรื่องค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- ถังแก๊สแบบ LPG นั้นจะมีน้ำหนักที่เบากว่าแบบ NGV
- ถ้าหากเราเติมแก๊สแบบ LPG นั้นเราจะพบว่าสามารถวิ่งได้ไกลกว่าเติมแก๊สแบบ NGV
- แน่นอนว่าระบบแก๊สแบบ LPG นั้นมีศูนย์บริการ หรือจุดเติมแก๊สมากกว่าแบบ NGV แน่นอน เนื่องจากว่าแก๊สแบบ LPG นั้นเป็นแก๊สแบบหุงต้มทั่วไป ถ้าหากรถยนต์ของท่านติดระบบแก๊สแบบ LPG แล้วท่านสามารถที่จะเติมแก๊สเข้าระบบรถยนต์ของท่านที่ปั๊มน้ำมันหรือจุดให้บริการใกล้บ้านได้เลยในทันที
- กำลังของเครื่องยนต์ที่ได้จากระบบแก๊สแบบ LPG นั้นจะมีมากกว่าแบบ NGV
ข้อเสียของระบบแก๊สรถยนต์:
1) ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งในครั้งแรกอาจจะสูงสักเล็กน้อย(ประมาณ 15,000 บาท ถึง 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของระบบ)
2) ไม่เหมาะกับรถยนต์ที่ใช้งานอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่มีศูนย์บริการหรือจุดให้บริการเติมแก๊สรถยนต์
3) หากมีการซ่อมบำรุง อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการเสียของระบบแก๊สรถยนต์ของเราด้วยค่ะ
4) หากระบบแก๊สรถยนต์มีการออกแบบและติดตั้งได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะเป็นสาเหตุของการรั่วไหลของแก๊สออกมาภายนอก ซึ่งนั่นหมายความว่า รถยนต์ของเรานั้นเสี่ยงต่อการลุกไหม้หรือระเบิดได้
ทำไมรถยนต์ของเรา ถึงจำเป็นต้องใช้แก๊ส มันดีอย่างไร?
อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า ถ้าหากรถยนต์ของเรานำไปติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์แล้ว เราจะได้รับประโยชน์หรือมีข้อดีอะไรบ้าง ซึ่งถ้าหากว่าท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่เน้นในเรื่องของความประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับการเติมเชื้อเพลิงในระยะยาว ระบบแก๊สรถยนต์นี้ถือได้ว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าให้ความสนใจเป็นอย่างมากค่ะ ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับเชื้อเพลิงที่เป็นแก๊สเมื่อเทียบกับน้ำมันนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ราคาแก๊สกับน้ำมันในแต่ละช่วงนั้นมีความแตกต่างกันเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้าหากราคาแก๊สมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมัน โดยคิดเฉลี่ยจากระยะทางที่สามารถวิ่งได้เท่ากัน การเติมแก๊สน่าจะเป็นวิธีที่คุ้มค่ามากกว่า
- ถ้าหากราคาแก๊สมีราคาเท่ากันหรือแพงกว่ากับราคาน้ำมัน และสามารถวิ่งในระยะทางที่เท่ากัน และมีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่เท่ากัน ในกรณีนี้การเติมน้ำมันน่าจะเป็นวิธีที่คุ้มค่ามากกว่า
เอาล่ะค่ะเมื่อเรารู้จักกับระบบแก๊สในรถยนต์ ตลอดจนข้อดีและข้อเสียของระบบดังกล่าวไปแล้ว ทีนี้เราก็จะมาเข้าสู่เนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักของบทความนี้ นั่นก็คือ โซลินอยด์วาล์วที่ใช้ระบบแก๊สรถยนต์ มันเป็นอย่างไร? และทำไมเราถึงต้องใช้วาล์วประเภทนี้มาใช้กับระบบแก๊สรถยนต์ด้วย
โซลินอยด์วาล์วแก๊ส คืออะไร?
* ขอบคุณภาพจาก mmgautomotive
โซลินอยด์วาล์วแก๊ส เป็นวาล์วควบคุมทิศทางอีกประเภทหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เปิดและปิดการจ่ายแก๊ส ตามคำสั่งของระบบควบคุม (มีการทำงานที่คล้ายกับ โซลินอยด์วาล์ว ที่ใช้กับลม) ซึ่งระบบควบคุมที่หมายถึงนี้ ถ้าเป็นในระบบแก๊สรถยนต์จะเรียกว่า "กล่องแก๊ส" ค่ะ โดยวาล์วโซลินอยด์ตัวนี้จะทำหน้าที่ตลอดเวลา ในกรณีที่รถยนต์ของเราตัดเข้าสู่ระบบแก๊ส ถ้าบางท่านสังเกตดูแล้วจะพบว่า เวลาที่ระบบแก๊สรถยนต์ของเราทำงานนั้นจะได้ยินเสียง "ติ๊กๆ หรือ แต๊กๆ" ที่ถังแก๊สและหม้อต้ม โดยเสียงดังกล่าวนี้ จะเป็นเสียงจาก การทำงานของวาล์วโซลินอยด์ของระบบแก๊ส นั่นเองล่ะค่ะ
เมื่อรถยนต์ของเราตัดเข้าสู่ระบบแก๊ส จะทำให้โซลินอยด์วาล์วดังกล่าวทำงานตลอดเวลา และในช่วงการทำงาน อาจจะมีความร้อนสะสมขึ้นเรื่อยๆ ในตัวโซลินอยด์ได้ ซึ่งความร้อนที่สะสมดังกล่าวนี้ จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดเสียหายหรือเสื่อมสภาพได้ ยกตัวอย่างเช่น ขดลวดภายในไหม้ พลาสติกด้านนอกปูดบวม เป็นต้น
โดยทั่วไปโซลินอยด์ระบบแก๊สรถยนต์จะมีด้วยกัน 2 ตัว คือ ตัวแรกจะเป็น โซลินอยด์หม้อต้มแก๊ส (ทำหน้าที่เปิด-ปิดแก๊สเข้าหม้อต้ม) และตัวที่สองจะเป็น โซลินอยด์วาล์วแรงดันสูง ที่ทำหน้าที่เปิด-ปิดแก๊สในท่อแรงดันสูง
อาการเสียของโซลินอยด์วาล์วแก๊ส และข้อสังเกตุที่จำเป็นต้องรู้
* ขอบคุณภาพจาก roomautoparts
โดยปรกติแล้ว โซลินอยด์หรือโซลินอยด์วาล์วที่ถูกติดตั้งเข้าไปกับระบบแก๊สรถยนต์นั้น จะมีอายุการใช้งานของมันค่ะ ขึ้นอยู่กับความถี่ของการใช้งานระบบแก๊สของรถยนต์เราด้วย ว่ามีมากน้อยเพียงใด ตลอดจนมีระบบควบคุมการทำงานของการจ่ายแก๊สของเราว่ามีคุณภาพเพียงใด ถ้าหากว่าเรามั่นใจแล้วว่า ระบบแก๊สของเรานั้นถูกออกแบบ และติดตั้งได้ตามมาตรฐานและคุณภาพที่ดีอย่างเพียงพอแล้วล่ะก็ นั่นก็แสดงว่า ถึงเวลาแล้วค่ะ ที่เราจะต้องเปลี่ยนวาล์วตัวใหม่ให้กับระบบแก๊สรถยนต์ของเรา โดยเราสามารถสังเกตุอาการเสียของวาล์ว ก่อนเปลี่ยนตัวใหม่ได้ดังนี้:
1) ในบางครั้งหากเราต้องการตัดเข้าระบบแก๊ส จะรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทำได้ หรือพูดง่ายๆว่า ไม่สามารถตัดเข้ากับระบบแก๊ส ได้นั่นเอง
2) บางกรณีเราจะพบว่าเมื่อเราตัดเข้าสู่ระบบแก๊สแล้ว อาจจะทำให้เครื่องยนต์ดับ หรือสะอึก
3) ในกรณีที่ท่านเจอปัญหาตามข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมาแล้วใน 2 ข้อด้านบน (ระบบแก๊สรถยนต์ ไม่ทำงาน) ให้ท่านตรวจสอบสภาพของวาล์วก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นสภาพภายนอก ตลอดจนอุณหภูมิในช่วงที่ทำงานปรกติ ซึ่งสภาพภายนอกจะต้องไม่มีรอยไหม้ บวมปูด หรือแตกร้าว และอุณหภูมิที่สะสมภายในตัว จะต้องไม่สูงจนเกินไป เป็นต้น ถ้าท่านดูแล้วว่าสภาพภายนอกนั้นลาโลกไปแล้ว (ไหม้,บวมปูด,แตกร้าว) ให้ท่านเปลี่ยนตัวใหม่ได้เลยทันทีค่ะ
โซลินอยด์วาล์วสำหรับระบบแก๊สรถยนต์ ราคาประมาณเท่าไหร่?
ถ้าหากเราพบว่าโซลินอยด์ระบบแก๊สของเราชำรุด หรือเสียหายอย่างแน่นอนแล้ว และเราต้องการทราบราคาของวาล์วประเภทดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับอ้างอิง ท่านก็สามารถทำได้เช่นกัน วิธีง่ายๆคือให้ท่านจดยี่ห้อ รหัส และรุ่นมาก่อน แล้วนำข้อมูลที่จดมา แจ้งให้กับผู้ให้บริการติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ หรือผู้ที่จำหน่ายวาล์วโซลินอยด์ทั่วไป ว่าราคารุ่น/ยี่ห้อดังกล่าว มีราคาประมาณเท่าไร
โดยปกติแล้วราคาโซลินอยด์สำหรับระบบแก๊สรถยนต์ จะมีราคาตั้งแต่ 500 บาทไปจนถึง 1,500 บาท เป็นต้น ทั้งนั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อด้วยค่ะ ถ้าหากท่านมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์รถ หรือคิดว่าตนเองสามารถซื้อมาเปลี่ยนเองได้(ในกรณีที่พบแน่ชัดแล้วว่าเสียอย่างแน่นอนแล้ว) ท่านสามารถไปซื้อตัวใหม่(ในรุ่นเดิมหรือรุ่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง) จากร้านติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ทั่วไปได้ โดยถ้าเป็นตัวสีน้ำเงินดังรูปภาพด้านบนอาจจะหาซื้อได้ง่ายค่ะ แต่ถ้านอกเหนือจากรุ่นนี้ ท่านจำเป็นที่จะต้องจดรายละเอียดต่างๆของระบบแก๊สยนต์ของท่านติดมือไปด้วย เพื่อที่คนขายจะสามารถเลือกให้เราแบบตรงรุ่นค่ะ
การเปลี่ยนโซลินอยด์ระบบแก๊สรถยนต์ แบบง่ายๆ ทำเองก็ได้
ก่อนที่ท่านจะทำการเปลี่ยนโซลินอยด์ของระบบแก๊สรถยนต์(ด้วยตัวเอง) ท่านจะต้องพิจารณาก่อนว่า ท่านมีสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้หรือยัง:
- ความชำนาญในเรื่องการใช้งานเครื่องมือช่างทั่วไปเช่น ประแจ ไขควง คีม เป็นต้น
- ตำแหน่งของโซลนอยด์นั้นสามารถที่จะถอดเปลี่ยนเองได้หรือไม่ เช่น ตำแหน่งที่ติดตั้ง สามารถถอดออกหรือประกอบเข้าที่เดิมได้ง่าย ไม่มีสายไฟต่อโยงไป-มา มากจนเกินไป
- โซลินอยด์แก๊สตัวใหม่ในรุ่นเดิม หรือใกล้เคียง
ถ้าท่านมีสิ่งจำเป็นตามหัวข้อด้านบนแล้ว เราไปดูวิธีการเปลี่ยนกันต่อเลยค่ะ:
- ถอดสายหรือขั้นแบตเตอรี่รถยนต์ออกก่อน(จะเป็นสายขั้นลบ หรือขั้วบวกก็ได้) เพื่อป้องกันไฟรั่วเข้ารถยนต์อันเป็นสุดที่รักของเราค่ะ
- ให้ท่านปิดระบบแก๊สและวาล์วแก๊สของระบบแก๊สให้หมด
- จากนั้นให้ดูที่ตัวโซลินอยด์ ถ้ามีสายไฟต่ออยู่ ให้ถอดสายไฟออกเสียก่อน (ไฟจ่าย) ถ้าสายไฟสีเดียวกัน ท่านจะต้องทำการ mark สายว่าสายไหนขั้นบวกหรือลบ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดกรณีต่อกลับเข้าที่เดิมค่ะ
- จากนั้นให้ใช้ ประแจเบอร์ 10 หรือ 12 ขันเอาโซลินอยด์ออกมา (คำแนะนำในการใช้เครื่องมือช่างกับรถยนต์ ควรใส่ถุงมือด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บระหว่างทำงาน)
- นำตัวใหม่ใส่กลับเข้าที่เดิม และขันน๊อตเบอร์ 10 หรือ 12 ด้วยประแจใหม่อีกครั้ง
- นำสายไฟที่จ่าย เสียบกลับไว้ที่เดิม
- เมื่อมั่นใจว่าถูกติดตั้งอย่างแน่นหนา ตลอดจนได้เสียบสายไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ท่านทดสอบเปิดวาล์วแก๊ส และทดสอบระบบตามลำดับ
สรุปส่งท้าย
สุดท้ายแล้ว โซลินอยด์วาล์ว สำหรับระบบแก๊สรถยนต์ ถือได้ว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากว่าวาล์วดังกล่าวไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างปกติแล้ว นั่นหมายถึงว่า ระบบแก๊สรถยนต์ของท่านจะไม่สามารถใช้งานได้นั่นเอง ซึ่งคำแนะนำของผู้เขียนก็คือ ท่านควรมีการตรวจเช็คระบบแก๊สรถยนต์ของท่าน ตามรอบหรือตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้ให้บริการติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ของท่าน เช่น ตรวจสอบระบบแก๊สทุกๆ 5 ถึง 7 หมื่นกิโลเมตร หรืออย่างน้อยท่านจะต้องมีการใช้งานระบบแก๊สอย่างสม่ำเสมอ(เพื่อให้อุปกรณ์ภายในระบบแก๊ส ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง) แบบนี้เป็นต้น